8 ส่วนประกอบสำคัญ

แอปเปิ้ล (Apple)

แอปเปิ้ล (Apple)

สารต้านอนุมูลอิสระในแอปเปิ้ลช่วยให้ผิวเต่งตึง ดูสดใส ลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ  นอกจากนี้การรับประทานแอปเปิ้ลยังช่วยให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์ที่ดีต่อระบบขับถ่าย  ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ลดคอเลสเตอรอล  ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด  บำรุงสุขภาพผิวให้ชุ่มชื้น  ลดการอักเสบ  และป้องกันเลือดออกตามไรฟัน

มีคำกล่าวที่ว่า One apple a day, doctor away. ซึ่งหมายความถึงการรับประทานแอปเปิลเพียงวันละหนึ่งผล จะช่วยให้เราไม่ต้องไปหาหมอ  มีงานวิจัยจำนวนมากเชื่อมโยงการบริโภคแอปเปิลกับคุณประโยชน์ทางสารอาหารมากมาย และต่อไปนี้คือบทสรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแอปเปิลล่าสุดซึ่งรวบรวมโดยสมาคมแอปเปิลสหรัฐฯ หาข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของพวกเขาที่ www.usapple.org

การลดน้ำหนัก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐแห่งริโอเดจาเนโรศึกษาผลกระทบจากการบริโภคผลไม้กับการลดน้ำหนัก แล้วพบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินซึ่งรับประทานแอปเปิลหรือลูกแพร์เท่ากับสามผลต่อวันสามารถลดน้ำหนักจากการรับประทานอาหารพลังงานต่ำได้มากกว่าผู้หญิงซึ่งไม่เพิ่มผลไม้ในมื้ออาหาร (Nutrition, 2003, 19: 253-256)

สุขภาพสมอง

มหาวิทยาลัยแห่งแมสซาชูเซตส์-โลเวล มีหลักฐานที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งบอกว่าการรับประทานแอปเปิลและดื่มน้ำแอปเปิลนั้นมีประโยชน์ เพราะทำให้สุขภาพสมองดีขึ้นและอาการของโรคอัลไซเมอร์ลดลง เมื่อมีการรับประทานอาหารอย่างสมดุลร่วมด้วย การบริโภคแอปเปิลและน้ำแอปเปิลอาจป้องกันไม่ให้สมองถูกทำลายแบบออกซิเดชั่นซึ่งสามารถนำไปสู่การสูญเสียความจำ มีการค้นพบคุณประโยชน์ของแอปเปิลต่อสุขภาพสมองเมื่อสัตว์บริโภคน้ำแอปเปิลเท่ากับ 2-3 ถ้วยหรือแอปเปิล 2-4 ผลต่อวัน การทดลองทางคลินิกแสดงว่าการดื่มน้ำแอปเปิลทำให้อารมณ์และพฤติกรรมในกลุ่มผู้ป่วยที่วินิจฉัยพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ระดับปานกลางถึงรุนแรงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Am J Alzheimer’s Dis Other Demen, 2010, 25: 367-371, AgroFOOD Industry High-Tech, 2009, 20; 6: 32-34, Journal of Alzheimer’s Disease, 2009, 16:1; Journal of Alzheimer’s Disease, 2005, 8: 283-287; Journal on Nutrition Health and Aging, 2004, 8: 92-97)*

จากการศึกษาในหลอดแก้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลยังพบด้วยว่าสารอาหารของแอปเปิลช่วยปกป้องเซลล์ประสาทสมองจากการถูกทำลายแบบออกซิเดชั่น ความเสียหายดังกล่าวเป็นสาเหตุของโรคเซลล์ประสาทเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน การศึกษาเจาะจงไปที่ฟลาโวนอยด์ของแอปเปิลที่ชื่อว่าเควอซิติน ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหลักที่ส่งผลให้เกิดการป้องกัน (Journal of Food Science, 2004, 69: S357-S360)*

มะเร็ง

มะเร็งเต้านม: การศึกษาวิจัยหลายชุดที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลได้ประเมินผลกระทบโดยตรงของแอปเปิลต่อการป้องกันมะเร็งเต้านมในสัตว์ ยิ่งบริโภคแอปเปิลมาก ยิ่งลดการเกิดหรือลดจำนวนของเนื้องอกอย่างมากในกลุ่มสัตว์ทดลอง การบริโภคแอปเปิลที่ได้มีการทดสอบนั้นคิดเป็นแอปเปิลหนึ่งถึงหกผลต่อวันเป็นเวลา 24 สัปดาห์ (Journal of Agric. Food Chem., 2009, 53: 2341-2343)*

มะเร็งตับอ่อน: เควอซิตินคือฟลาโวนอยด์ที่พบในแอปเปิลตามธรรมชาติ โดยได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในฟลาโวนอยด์ที่มีคุณประโยชน์มากที่สุดในการปกป้องและลดความเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อน แม้ว่าความเสี่ยงโดยรวมจะลดลงไปในหมู่ผู้เข้าร่วมการวิจัย ผู้สูบบุหรี่ซึ่งบริโภคอาหารที่อุดมด้วยสารฟลาโวนอยด์มีความเสี่ยงที่ลดลงได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ( American Journal of Epidemiology, 2007, 8: 924-931)

มะเร็งลำไส้ใหญ่และตับ: ทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลได้ระบุกลุ่มสารเคมีจากพืชที่มีอยู่มากในเปลือกและดูเหมือนว่าสามารถฆ่าหรือยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งในมนุษย์ได้อย่างน้อยสามชนิดต่างกัน ได้แก่ ลำไส้ใหญ่ เต้านม และตับ (Journal of Agricultural and Food Chemistry, 2007, 55(11):4366 – 4370)

มะเร็งต่อมลูกหมาก: นักวิจัยที่คลินิกมาโย ณ รอเชสเตอร์ มินนิโซต้ารายงานว่าเควอซิติน ซึ่งเป็นสารอาหารจากพืชที่พบมากที่สุดในแอปเปิล อาจสามารถนำมาใช้ในการหาวิธีการใหม่ในการป้องกันและรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก พวกเขาพบว่าเควอซิตินยับยั้งหรือป้องกันการเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในมนุษย์โดยขัดขวางกิจกรรมของฮอร์โมนแอนโดรเจน ในการศึกษาในหลอดทดลอง การศึกษาก่อนหน้านั้นเชื่อมโยงแอนโดรเจนกับการเจริญเติบโตและพัฒนาของมะเร็งต่อมลูกหมาก (Carcinogenesis, 2001, 22: 409-414)

มะเร็งลำไส้: การบริโภคแอปเปิลเพียงวันละผลสามารถลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักลงมากกว่าหนึ่งในสาม นักวิจัยในโปแลนด์สำรวจผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจำนวน 592 คน และบุคคลที่ไม่เป็นมะเร็ง 700 คนเกี่ยวกับอาหารและวิถีชีวิตของพวกเขา บุคคลที่ไม่เป็นมะเร็งมีแนวโน้มบริโภคแอปเปิลมากกว่าคนที่เป็นมะเร็ง และหากคนๆ นั้นบริโภคแอปเปิลในแต่ละวันมากเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักน้อยลง พวกเขายังพบผลในการต่อต้านมะเร็งด้วยแม้ว่าบุคคลนั้นบริโภคผักและผลไม้โดยรวมน้อย แต่บริโภคแอปเปิลอย่างน้อยวันละผล ผลลัพธ์การป้องกันโรคที่สังเกตได้อาจเกิดจากการที่แอปเปิลอุดมด้วยฟลาโวนอยด์และโพลิฟีนอลอื่นๆ ซึ่งสามารถยับยั้งการเริ่มต้นมะเร็งและการเพิ่มจำนวนของเซลล์ ยิ่งกว่านั้น แอปเปิลยังเป็นแหล่งอุดมของไฟเบอร์ โดยที่เรารู้กันดีว่าอาหารที่มีไฟเบอร์นั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (European Journal of Cancer Prevention, 2010, 19(1):42-47)

กลุ่มอาการอ้วนลงพุง

ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์แอปเปิลมีแนวโน้มจะมีความดันเลือดต่ำกว่าและรอบเอวเล็กกว่า ทำให้ลดความเสี่ยงภาวะอ้วนลงพุงที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมายที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานและโรคหัวใจ (Experimental Biology 2008 Poster (unpublished))*

สารต้านอนุมูลอิสระ

กระทรวงการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้จัดประเภทให้แอปเปิลจำนวนสามชนิดติดอันดับอาหารที่เป็นแหล่งอุดมสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด ในบรรดาอาหาร 20 อันดับแรก แม้ว่าการศึกษาเน้นเจาะจงไปที่แอปเปิลสามชนิดเท่านั้น แต่แอปเปิลทุกชนิดประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในระดับที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพอื่นๆ สารต้านอนุมูลอิสระสองในสามส่วนของแอปเปิลหนึ่งผลพบในเปลือก (USDA Agricultural Research Service, 2007)

สุขภาพปอด

งานวิจัยจากอังกฤษรายงานว่าบุตรของมารดาที่บริโภคแอปเปิลระหว่างตั้งครรภ์มีแนวโน้มแสดงอาการโรคหืดน้อยลงมาก รวมไปถึงการหายใจมีเสียงหวีดเมื่ออายุ 5 ขวบ ท่ามกลางอาหารหลายชนิดที่บริโภคและบันทึกจากสตรีตั้งครรภ์ แอปเปิลคืออาหารชนิดเดียวที่มีความเชื่อมโยงในด้านบวกต่อการลดความเสี่ยงของโรคหืด (Thorax, 2007, 62:745-746.) นักวิจัยจากออสเตรเลียรายงานว่าจากการศึกษา ผู้เข้าร่วมซึ่งรับประทานแอปเปิลและลูกแพร์มีความเสี่ยงโรคหืดน้อยที่สุด (American Journal of Clinical Nutrition, 2003;78: 414-21)

การศึกษาจากคิงส์คอลเลจแห่งลอนดอนและมหาวิทยาลัยแห่งเซาธ์แฮมตันรายงานว่าผู้ที่รับประทานแอปเปิลอย่างน้อยสองผลต่อสัปดาห์ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหืดน้อยลงถึง 22-32 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าผู้ที่กินแอปเปิลน้อยกว่า  (Am. J. Respir. Crit. Care Med, 2001, 164: 1823-1828)

การศึกษาวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) รายงานว่าอาหารที่อุดมด้วยไฟเบอร์และฟลาโวนอยด์ ซึ่งพบได้มากในแอปเปิล อาจลดอาการไอเรื้อรังแบบมีเสมหะและอาการที่เกี่ยวข้องกับการหายใจอื่นๆ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งฮาวายและสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติฟินแลนด์ยังเชื่อมโยงฟลาโวนอยด์ซึ่งพบในแอปเปิลกับการลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดด้วย รวมถึงมะเร็งปอด (Am. J. Respir. Crit. Care Med, 2004, 170: 279-287; Journal of the National Cancer Institute, 2000, 92: 154-160; American Journal of Epidemiology, 1997, 146: 223-230)

สุขภาพหัวใจ

การศึกษาระบุการเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างส่วนประกอบร่วมของแอปเปิลและสุขภาพหัวใจในสตรีหลังวัยหมดประจำเดือน ผลลัพธ์จากการศึกษาระบุว่าการเพิ่มการบริโภคแอปเปิลอาจมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดหัวใจ (American Journal of Clinical Nutrition, 2007, 85 (3): 895-909.)

การศึกษาของชาวฝรั่งเศสพบว่าการบริโภคอาหารที่มีเส้นใยอาหารและเส้นใยอาหารไม่ละลายน้ำในปริมาณรวมสูงที่สุดมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจหลายชนิด ได้แก่ น้ำหนักเกิน อัตราส่วนเอวต่อบั้นท้ายที่เพิ่มขึ้น ความดัน และระดับคอเลสเตอรอล (American Journal of Clinical Nutrition, 2005, 82: 1185-1194)

นักวิจัยสหรัฐฯ รายงานว่าหากบริโภคไฟเบอร์ทุกๆ 10 กรัมต่อวันอาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ และอาจลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนว่าไฟเบอร์จากผลไม้ให้การป้องกันได้ดีกว่าไฟเบอร์จากธัญพืชเล็กน้อย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงชอการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ (Arch Int Med, 2004, 164: 370-376)

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่เดวิสรายงานว่าการบริโภคแอปเปิลและน้ำแอปเปิลทุกวันอาจช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และป้องกันโรคหัวใจ โดยอ้างอิงจากการวิจัยในมนุษย์เป็นครั้งแรกในประเภทเดียวกัน (Journal of Medicinal Food, 2000, 3: 159-165) การวิจัยก่อนหน้านี้จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่เดวิสรายงานการค้นพบแบบเดียวกันจากการศึกษาในหลอดทดลอง พวกเขายังยืนยันด้วยว่าสารอาหารจากพืชที่มีความสำคัญที่ได้จากแอปเปิลสามารถพบได้ในน้ำแอปเปิล (Life Sciences, 1999, 64: 1913-1920)*

ภูมิคุ้มกันโรค

ไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ เช่น เพกตินจากแอปเปิล อาจลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคที่มีส่วนสัมพันธ์กับโรคอ้วน และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงขึ้น อ้างอิงจากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งอิลินอยส์ สัตว์ทดลองที่ถูกป้อนด้วยอาหารไขมันต่ำกับไฟเบอร์ชนิดละลายหรือชนิดไม่ละลายน้ำแสดงการตอบสนองอย่างชัดเจนเมื่อระบบภูมิคุ้มกันถูกท้าทาย โดยสัตว์ที่ป้อนด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำแสดงอาการเจ็บป่วยน้อยกว่า และมีอัตราการฟื้นฟูเร็วกว่าสัตว์อื่นๆ (Brain, Behavior, and Immunity, 2010, in press/available online)

สุขภาพลำไส้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งเดนมาร์กค้นพบว่าแอปเปิลและผลิตภัณฑ์แอปเปิลช่วยให้ลำไส้สุขภาพดีไปพร้อมๆ กับเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ผ่านการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ป้อนหนูด้วยอาหารจากแอปเปิลทุกรูปแบบ ได้แก่ น้ำผลไม้ ซอสแอปเปิล และแอปเปิลทั้งผล หนูมีแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เพิ่มขึ้น นักวิจัยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากเพกตินที่ อยู่ในแอปเปิล เพกตินคือสารเหมือนไฟเบอร์ที่พบได้ในผนังเซลล์ของพืช และมักบรรจุอยู่ในห่อเพื่อใช้เป็นตัวทำเจลสำหรับผู้ที่ทำแยมและเยลลี่เองที่บ้าน แอปเปิลคือแหล่งของสารเหมือนไฟเบอร์นี้ตามธรรมชาติ แบคทีเรียที่เป็นมิตรในลำไส้ชอบเพกตินจากแอปเปิลซึ่งทำให้มันสามารถแบ่งตัวและเจริญเติบโตได้ดีในระหว่างที่ทำประโยชน์ต่อร่างกายโดยการต่อสู้กับโรคในลำไส้ (BMC Microbiology 2010, 10:13)

Menu